ชุกรี อิบนฺนูรดีน ขอเปิดหน้าต่างใหม่สู่การเรียนภาษาอังกฤษผ่านบทความยอดนิยม ภาษาอังกฤษทำให้เราได้มองโลกที่กว้างขึ้น มองอนาคตที่ชัดขึ้น เเละมองตัวเองเชิงบวก ผมจะบอกว่า "วิธีการเรียนภาษาอังกฤษไม่เหมือนกับการเรียนเปิด-ปิดหลอดไฟครับ" [หน้าต่างสู่ภาษาอังกฤษเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับประชาชาติ]
15 ก.ย. 2553
เพลินเล่นเรียนแนวคิดใหม่แห่งการเรียนรู้
โดย สมหวัง วิทยาปัญญานนท์
Plearn (เพลิน) คือ Play (เล่น) สนธิคำกับคำว่า Learn (เรียน) ก็เลยเกิดศัพท์ใหม่ ซึ่งตลกดีเหมือนกัน เอาภาษาอังกฤษสองคำสนธิกันเป็นภาษาไทยได้ความหมายดี ซึ่งฝ่ายค้านอาจคิดว่า เล่น + เรียน น่าจะเป็น = เลี่ยน มากกว่า ก็ปล่อยเขาไป คิดเป็นคำตลกก็ได้อรรถรสดี
เรียนอย่างเดียวก็เบื่อ เกิดทุกข์ มีประโยชน์แต่ไม่จูงใจ เล่นอย่างเดียวก็สนุก เกิดสุข แต่ก็ไร้สาระ ไม่เกิดผลดี
จากสองกรณี จึงไม่ใช่ทางสายกลาง จึงทำให้เกิดปัญหาทำให้ต้องหาคำตอบใหม่คือ
“เรียนให้สนุก และเล่นให้ได้ความรู้” และ
“บูรณาการเรียนและเล่นเป็นหนึ่งเดียว จะทำได้อย่างไร”
ตามหลักพุทธ เรียนเพื่อรู้ รู้เพื่อนำมาปฏิบัติ ปฏิบัติก็เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ ผลลัพธ์ที่เกิดก็เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงค์ชีวิต การงาน และสังคม
การสอนแบบยัดเยียดให้เรียนเต็มเหนี่ยว เต็มที่ก็เพื่อให้รู้ รู้ก็เพื่อเอาไปสอบ สอบเพื่อให้เลื่อนชั้น สอบเพื่อให้เข้ามหาวิทยาลัยดังๆ ได้ สอบเพื่อปริญญาบัตร ได้ปริญญาบัตรเพื่อเอาไปสมัครทำงาน เวลาทำงานก็แทบไม่ได้ใช้จากสิ่งที่เรียนมาเลย ถึงใช้ก็น้อยมาก ต้องมาเรียนรู้ใหม่ในองค์กร ถ้าถามว่าเรียนมากๆ จนแทบคลั่งนั้นทำเพื่ออะไร คำตอบที่ได้ก็ไม่รู้ที่สอนไปก็เพื่อเป็นอาชีพ เอาค่าเล่าเรียนมาพัฒนาโรงเรียน เด็กน้อยจบจากโรงเรียนจนเป็นผู้ใหญ่ ก็เป็นผลผลิตจากโรงเรียน แต่โรงเรียน ก็ยังใช้แนวทางเดิมๆ สอนอยู่
ชีวิตมนุษย์นั้น หากพิจารณาดูให้ดี เล่นมากกว่าทำงาน เล่นคือทำสิ่งเพลิดเพลิน ทำให้เกิดความสุข แต่ต้องบริโภคนิยมจากการไปซื้อของไร้สาระ การไปเที่ยว การฟังเพลง การกินข้าวนอกบ้าน การดูหนัง จากจัดกิจกรรมสารพัด ยิ่งวัยเด็กนั้นสัตว์โลกเช่น เสือ สิงโต เขาก็เล่น แต่เขาเล่นเพื่อให้ได้ความรู้ โดยที่เขาไม่รู้ตัว การกระโจนหยอกล้อกัน ก็เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกร่างกาย และความคล่องแคล่ว เป็นการเตรียมพร้อมในการจับเหยื่อ (หาเลี้ยงชีพ) ในตอนโตนั้นเอง แบบจำลองการเล่นของลูกเสือ ก็อาจเป็นตัวอย่างที่ดี ในการเรียนรู้แบบเล่น เรียน ซึ่งเป็นวิถีธรรมชาติ ไม่เครียด และสนุก พร้อมได้ฝึกปฏิบัติด้วย โดยที่ มือ - สมอง – ใจ ได้เรียนรู้ในคราวเดียวกันพร้อมๆ กัน ไม่ใช่การเรียนรู้แบบสมัยนี้ ที่เรียนแต่สมอง ฟังแล้วให้จำเรื่องนั้นแล้วเข้าใจก็ว่ากันอีกทีหนึ่ง ถ้าไม่เข้าใจก็ไปท่องๆ กัน สักร้อยเที่ยว
สังคมไทยรู้สึกว่าจะชอบ และถูกโฉลกกับการละเล่น ซึ่งจะเห็นว่า เวลาจัดงานกิจกรรมบันเทิงฉลอง ครูปล่อยให้กลุ่มเด็กๆ ไปจัด เขาก็จะทำเต็มที่ แต่พอจัดกลุ่มให้ไปทำงาน ก็ดูจะเยาะแยะ ซึ่งก็ติดนิสัยไปจนถึงเป็นพนักงาน ในองค์กรธุรกิจ ก็ยังมีนิสัยเดิม ๆ เคยมีคนเล่าให้ฟังว่า
มีฝรั่งเขาเขียนจดหมายเหตุตอนมาเมืองไทย เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วว่า คนไทยนั้นหากเป็นการจัดงานกิจกรรมบันเทิงเขาจะร่วมมือร่วมใจกันเต็มที่ แต่พอจัดการทำงานเขาจะให้ความสำคัญน้อย ซึ่งต่างจากชาวยุโรปที่เขาเน้นงานเป็นหลัก สำหรับการบันเทิงเขาแค่พอเป็นพิธีเท่านั้น ไม่ให้ความสำคัญมากเท่านี้ ที่เยอรมันเขาก็จัดทำสวนเด็ก (Kinder garten) จัดให้เด็ก ๆ มาเล่นกันอย่างเพลิดเพลิน ตามแนวคิดของลูกเสือ ลูกสิงโต แต่คนไทยใช้โรงเรียนอนุบาล (Children School) เป็นโรงยัดเยียดความรู้และค่านิยมต่างๆ เข้าไปในตัวเด็ก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คิดว่าคนไทยไปเรียนจบเมืองนอกแล้ว พอกลับมาเมืองไทย ก็มาเป็นครู ก็เลยเอาฝรั่งเป็นต้นแบบ จนเสียเอกลักษณ์คนไทยที่ชอบ การละเล่นที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมคนไทย ลืมนำความสามารถเฉพาะตัวในการละเล่นมาใส่ในโรงเรียน
ทำไมเราจึงต้องมาเน้น การเรียนรู้แบบเพลิน คือเล่นเรียน เหตุผลก็คือ มันเป็นวิธีการเรียนรู้แบบธรรมชาติมากที่สุด ทำให้เกิดการรู้จำ แล้วพัฒนาไปสู่การรู้แจ้งได้รวดเร็ว นอกจากนี้การเรียนแบบเพลิน สมองก็จะสนุกและเพลิน ก็จะผลิตสารสุข (Endorphins) ออกมา หากเราเรียนรู้แบบเครียด สมองก็จะหนัก มึนหัว รับต่อไปไหว เรียนซักพักก็อยากจะพัก อยากจะหยุดกกินกาแฟ กินน้ำ อารมณ์ก็จะเครียด ร่างกายก็จะผลิตสารเครียด (Cortisol) ออกมา ถ้ามีมากๆ ในร่างการก็จะเกิดโทษ
ในทางพุทธนั้น เน้นย้ำว่า ยิ่งเรียนรู้ต้องยิ่งเบาสบาย ไม่ใช่ยิ่งเรียนแล้วยิ่งหนัก จงทำจิตใจให้เบิกบานสดใส เรียนแล้วยิ่งได้ปัญญา ที่สามารถนำความรู้ มาคิด มาวิเคราะห์ มาสังเคราะห์ แล้วหาทางออก แก้ปัญหาได้ หากยิ่งเรียนแล้วยิ่งหลงทาง รู้แล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้ เรียนแล้วก็ไม่รู้เรียนไปเพื่ออะไร จะใช้เมื่อไรก็ไม่รู้ อย่างนี้เป็นอวิชชา มาผิดทาง เรียนรู้อย่างไร ไม่ใช่แค่เรียนรู้จากครู ไม่ใช่เรียนรู้กันเองในหมู่ศิษย์ แต่ทั้งครูและศิษย์ จะต้องมีการเรียนรู้ด้วยกัน ครูมาเล่นกับศิษย์ และเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว โดยเอาธรรมชาติใกล้ตัวเป็นครู รอจังหวะที่เหมาะสมเหตุการที่เหมาะสม ดังเช่น พระพุทธองค์ทรงสอนหญิงที่ลูกตายแล้วเศร้าโศกเสียใจ มาหาพระพุทธเจ้าให้ช่วยชุบชีวิตลูก โดยให้หญิงนั้นไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากบ้านที่ไม่เคยมีญาติตายมาก่อน ในที่สุดก็พบว่าบ้านไหนๆ ก็มีคนตายทั้งนั้น ก็เลยถึงบางอ้อว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดาๆ เสียใจไปก็ไร้ประโยชน์ ไม่มีทางฟื้นจากความตาย
ศิษย์บางคนเรียนรู้ไม่ดี หากเขาศรัทธาตัวครู บางคนก็ชอบครูที่เป็นกันเอง และพูดตลก การสร้างบรรยากาศในการเรียนให้สนุกและได้ความรู้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ไกลจนสุดเอื้อม เช่น
- จับบทเรียนมาเป็นบทเล่น หรือเกม เช่น เกมซีอีโอ เกมทีมงาน เกมลูกค้า เกมสุดๆ อาจเป็น
เกมคอมพิวเตอร์ก็ได้
- การวาดภาพประกอบเรื่องที่เรียน
- จับบทสอนใจมาแต่งนิทาน แล้วนำมาเล่าให้ฟังทางพุทธก็มี “ชาดก” สอนไว้หลายเรื่อง
- จับเนื้อหามาแต่งเพลง แล้วก็ช่วยกันร้องพร้อมๆ กันทั้งชั้น เช่นเพลงภาษาอังกฤษ
- การตบมือพร้อมๆ กัน แก้ง่วง
- จับบทเรียนมาถามอะไรเอ่ย
- จับทีมมาโต้วาทีกันในหัวข้อที่กำหนดให้ตามหลักสูตร ครูก็ฝึกเป็นนักพูดทอล์คโชว์ (Talk Show) พูดให้มันๆ พูดให้ตลกๆ เรียกเสียงหัวเราะได้
- จะสอนวิชางานบ้าน ก็ลองลุยเลย ฝึกของจริง ซื้อของเข้าบ้าน ทำความสะอาดบ้าน ก็จะ
จำได้โดยไม่ต้องจำมาก
ข้อเตือนใจการเรียนรู้อย่างสนุก ไม่ควรคิดแค่การเรียนแบบเด็กๆ ควรขยายผลถึงระดับมัธยม ระดับมหาวิทยาลัย และถ้าให้ดี ควรใช้ในองค์กรธุรกิจ และการบริหารชุมชนอีกด้วย มิเช่นนั้น เมื่อโตขึ้น การเล่นก็หายไป ความสุขที่เคยมีในสมัยเด็ก ๆ ก็หายไป
กระบวนการเรียนรู้แบบเพลิน
1. ครูต้องหยุดการสอนแบบตะลุมบอลล์ ลุยสอนๆๆๆ ละวางจากการสอนแบบ “อัด”
“ยัดเยียด” “เร่งความเร็ว”
2. ครูต้องคิดใหม่ทำใหม่ คิดใหม่อย่างสร้างสรรค์เข้าหาสายกลาง ลองหาวิธีการใหม่ๆ ให้
เปลี่ยนแนวคิดทัศนคติใหม่ หนีความเคยชินต่างๆ ที่เร่งสอนให้ทันหลักสูตร
3. ครูต้องออกแบบการเรียนการสอนใหม่ เอาวัตถุประสงค์ที่จะให้เด็กเรียนรู้เป็นตัวตั้ง เอา
พฤติกรรมศิษย์เป็นตัวตั้ง และออกแบบวิธีการสอนใหม่ เพื่อให้ศิษย์เรียนรู้เองแบบ
ธรรมชาติ
4. เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนมีโอกาสพูดกับครูเพื่อค้นหาแนวร่วม (Learning
Participation) วิธีการเรียนรู้ด้วยกัน ว่าจะเรียนแบบไหนดีจึงจะสนุก ครูจะสอน
แบบไหนดีจึงจะสนุก
5. ต่างฝ่ายต่างสังเกตกันว่า อากัปกิริยา การเรียน การเล่น ว่าเพลิดเพลินหรือเปล่า มีอาการ
เซ็งๆ หรือไม่ ถ้ามีจะแก้ไขอย่างไร ต้องทบทวนวิธีการใหม่ ใช้เวลามากไป หรือน้อยไป
เนื้อหาน้อยไป ค้นหาความสมดุลพอดี
6. ในเบื้องต้นอาจใช้วิธีการเรียนแบบแยกส่วน ครึ่งชั่วโมงเรียนจากการฟัง อีกครึ่งชั่วไมงเป็น
เล่นตามที่เรียน
7. หากชำนาญ ก็จะรวมกระบวนการเรียนและเล่นเป็นหนึ่งเดียว แบบบูรณาการ
ข้อควรรระวังในการเรียนรู้แบบเพลิน
1. มาเพลินกับคอมพิวเตอร์ จนเกินเวลาสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาอื่น หรือลืมสมาคมเพื่อนๆ
2. เล่นมากไป จำได้แต่ความสนุก ขาดการวิเคราะห์ทบทวน บทเรียนรู้จากการเล่น
3. หาอุปกรณ์อื่นๆ ที่ต้องจัดหามาในราคาแพง ควรค้นหาอุปกรณ์การสอนจากสิ่งแวดล้อม
ใกล้ตัว วัสดุในท้องถิ่น
4. ลืมพาเด็กไปสัมผัสธรรมชาติ ใช้ของจริงเทียมมากไป ควรพาเด็กไปดูต้นข้าว และควายตัวจริงด้วย
5. เพลินแต่สมอง กายและใจไม่ได้เรียนรู้ กายต้องมีทักษะ และใจต้องพอใจศรัทธาในสิ่งที่
เรียน
สรุปแล้ว การเรียนการสอนแบบเดิมๆ คือการส่งน้ำจากต้นทางไปยังปลายท่อเท่านั้น รับกันเป็นช่วงๆ ตั้งแต่อนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย
การเล่นเรียนนั้นเพื่อให้การศึกษาเล่าเรียนเป็นไปแบบธรรมชาติ มีความสมดุล เป็นไปตามหลักพุทธ ใช้ทางสายกลางในการเล่าเรียน การเล่นก็เพื่อเรียนรู้ การเรียนก็สนุก จงปรับวิธีการเล่นเรียน เรียนรู้ก็ปฏิบัติไปเลย และเล็งเห็นประโยชน์จากการเรียนรู้ คนที่เก่งแต่เรียนไม่เอาเที่ยว จบออกไปทำงานกับกลุ่มคนก็ปกครองคนไม่ได้ เพราะไม่เก่งคน จงเก่งแต่พอดีเป็นอย่างน้อย แล้วเก่งคน เก่งเล่น ช่วยเหลือกิจกรรมสังคม เล่นดนตรีบ้าง เพื่อฝูงก็มาก สังคมก็มีความสุข และสนุกแบบไทยๆ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น