ชุกรี อิบนฺนูรดีน ขอเปิดหน้าต่างใหม่สู่การเรียนภาษาอังกฤษผ่านบทความยอดนิยม ภาษาอังกฤษทำให้เราได้มองโลกที่กว้างขึ้น มองอนาคตที่ชัดขึ้น เเละมองตัวเองเชิงบวก ผมจะบอกว่า "วิธีการเรียนภาษาอังกฤษไม่เหมือนกับการเรียนเปิด-ปิดหลอดไฟครับ" [หน้าต่างสู่ภาษาอังกฤษเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับประชาชาติ]
20 ก.ย. 2553
ประวัตินักภาษาศาสตร์ชื่อดัง
โนม ชัมสกี
ดร. แอฟแรม โนม ชัมสกี (Avram Noam Chomsky) (เกิด 7 ธันวาคม ค.ศ. 1928) เป็นนักภาษาศาสตร์ นักปรัชญา นักปริชานศาสตร์ และนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำคณะภาษาศาสตร์และปรัชญา สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ชัมสกีได้รับการยกย่องจากการให้กำเนิดทฤษฎี Transformative-Generative Grammar หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Generative Grammar (ภาษาไทยมีใช้ทั้ง ไวยากรณ์พึ่งพา ไวยากรณ์เพิ่มพูน และไวยากรณ์ปริวรรต) ซึ่งถือกันทั่วไปว่าเป็นงานชิ้นสำคัญที่สุดของวงการภาษาศาสตร์ทฤษฎีในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชัมสกียังมีส่วนช่วยจุดประกายการปฏิวัติองค์ความรู้ในวิชาจิตวิทยาเกี่ยวกับปริชานผ่านทางงานปริทัศน์หนังสือ Verbal Behavior ของ บี. เอฟ. สกินเนอร์ อันเป็นการท้าทายวิธีแบบพฤติกรรมศาสตร์ที่เคยครอบงำการศึกษาเรื่องจิตและภาษาในคริสต์ทศวรรษ 1950 วิธีศึกษาภาษาโดยแนวทางธรรมชาติของชัมสกียังมีผลกระทบต่อวิชาปรัชญาภาษาและปรัชญาจิตอีกด้วย นอกจากนี้ ชัมสกียังได้รับการยกย่องจากการก่อตั้งลำดับชั้นชัมสกี (Chomsky hierarchy) ซึ่งเป็นการจำแนกภาษารูปนัยออกเป็นลำดับชั้น ตามพลังในการก่อกำเนิดของแต่ละระดับ
ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ์ 1960 ชัมสกียังเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะผู้ไม่เห็นด้วยกับอำนาจรัฐและนักอนาธิปัตย์ จากการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการวิพากษ์ที่เขามีต่อนโยบายต่างประเทศของทั้งสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลอีกหลายประเทศ ชัมสกีเรียกตนเองว่าเป็นนักสังคมนิยมเสรี ผู้เห็นพ้องกับแนวคิดอนาธิปัตย์-สหภาพนิยม
แอล. แอล. ซาเมนฮอฟ
แอล.แอล. ซาเมนฮอฟ, (อังกฤษ: Ludvic Lazarus (Ludwik Lejzer, Ludwik Łazarz) Zamenhof - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2402 – 14 เมษายน พ.ศ. 2460) จักษุแพทย์ นักภาษาศาสตร์ และผู้ริเริ่มภาษาเอสเปรันโต ซึ่งเป็นภาษาพูดในวงกว้างและมีโครงภาษาที่ประสบความสำเร็จมากภาษาหนึ่งในโลก ตามบึนทึกของนักเขียนชีวประวัติ เอ. ซาคลิวสกี และ อี.วีเซนเฟลด์ บ่งว่าภาษาแม่ของซาเมนฮอฟคือภาษาโปลด์ที่ได้จากจากถิ่นที่ซาเมนฮอฟเติบโต ส่วนภาษาของบิดาและมารดาคือภาษารัสเซียและยิดดิช แต่บิดาเป็นครูสอนภาษาเยอรมัน ซาเมนฮอฟจึงพูดเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่วด้วย ต่อมาซาเมนฮอฟได้เรียนภาษาฝรั่งเศส ภาษาละติน ภาษากรีก ภาษาฮีบรูและภาษาอังกฤษด้วย นอกจากภาษาเหล่านี้แล้วซาเมนฮอฟยังสนใจภาษาอิตาเลียน ภาษาสเปนและภาษาลิทัวเนียอีกด้วย
แอล.แอล. ซาเมนฮอฟ เกิดที่เมืองเบียลีสต็อก ในโปแลนด์ครั้งยังอยู่ในการครอบครองของรัสเซีย) พ่อแม่มีเชื้อสายยิว-ลิทัวเนีย เมืองที่ซาเมนฮอฟถือกำเนิดประกอบด้วย 3 ชนเผ่าใหญ่ๆ คือ ชาวโปลด์ ชาวเบลารุส และกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มชาวยิวที่พูดภาษายิดดิช ทั้ง 3 กลุ่มนี้มีแต่วิวาทบาดหมางกันอยู่เสมอ ซึ่งซาเมนฮอฟคิดว่าความลำเอียงและความเกลียดชังระหว่างกันนี้ เกิดจากความไม่เข้าใจซึ่งกันเนื่องจากภาษาแตกต่างที่สื่อกันไม่ได้ ขาดภาษากลางที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกลางสำหรับกลุ่มชนที่มีพื้นหลังทางสัทศาสตร์และเผ่าพันธุ์แตกต่างกัน
ในระหว่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้นในนครวอร์ซอว์ ซาเมนฮอฟได้พยายามสร้างภาษานานาชาติขึ้นด้วยไวยากรณ์ที่มากและซับซ้อน แต่เมื่อได้เรียนภาษาอังกฤษ ซาเมนฮอฟตัดสินใจว่าภาษานานาชาติจะต้องมีไวยากรณ์ที่ง่ายที่สุด
เมื่อถึงปี พ.ศ. 2421 โครงการภาษานานาชาติ (Lingwe uniwersala) ของซาเมนฮอฟเป็นรูปเป็นร่างใกล้เสร็จ แต่เขาก็ยังเด็กเกินไปที่จะตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานนี้ได้ จึงได้เข้าศึกษาต่อในด้านการแพทย์ที่วอร์ซอว์และมอสโคว์ จนจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2428 และได้ทำงานเป็นด้านจักษุแพทย์ ในระหว่างทำงานรักษาคนไข้ ซาเมนฮอฟก็ได้ทำโครงการภาษานานาชาติของตนต่อไปพร้อมๆ กัน
เมื่อ พ.ศ. 2422 ซาเมนฮอฟได้เขียนไวยากรณ์ของภาษายิดดิชเป็นครั้งแรกและได้รับการตีพิมพ์เป็นบางส่วนในหลายปีต่อมาคือ พ.ศ. 2452 ผลงานดั้งเดิมที่สมบูรณ์ในภาษารัสเซียคู่กับภาษาเอสเปรานโดของเขาเพิ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 นี้เอง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซาเมนฮอฟยังได้เขียนงานเกี่ยวกับไวยากรณ์ของภาษายิดดิชและได้ชี้ให้เห็นช่วงหรือส่วนที่เชื่อมต่อกับภาษาละตินไว้ด้วย รวมทั้งยังได้สำรวจงานกวีของยิดดิชเป็นครั้งแรกอีกด้วย
สองปีต่อมา ซาเมนฮอฟ ได้พยายามหาทุนเพื่อตีพิมพ์หนังสืออนุสารว่าด้วยภาษาของเขาและได้รับการอุดหนุนทุนจากบิดาของภรรยา และในปี พ.ศ. 2430 นั้นเอง หนังสือชื่อ "ภาษานานาชาติ คำนิยมและตำราเรียนฉบับสมบูรณ์" ("Lingvo internacia. Antaŭparolo kaj plena lernolibro") ของเขาก็ได้รับการตีพิมพ์ออกมาภายใต้ชื่อนามปากกาว่า "หมอหวังดี" ("Doktoro Esperanto" หรือ Doctor Hopeful) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภาษานี้ ซาเมนฮอฟมิได้หวังเพียงว่าจะให้ภาษานี้เป็นเครื่องมือการสื่อทางภาษา แต่เขายังหวังที่เผยแพร่แนวคิดในการอยู่ร่วมกันโดยสันติในระหว่างกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันทางภาษาและวัฒนธรรม มีหนังสือจำนวนมากที่ซาเมนฮอฟแปลเป็นภาษาเอสเปรันโต รวมทั้งคัมภีร์ไบเบิลฮีบรู หรือคัมภีร์เล่มต้น (Old Testament)
ซาเมนฮอฟแต่งงานกับคลาราและมีบุตร 3 คน แต่ทั้ง 3 คนเสียชิวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในค่ายกักกันของนาซี
ในปี พ.ศ. 2453 ซาเมนฮอฟได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโดยสมาชิกรัฐสภาของอังกฤษและศาสตราจารย์สแตนเลย์ เลน พูล แต่รางวัลในปีนั้นได้ตกแก่องค์กร คือ องค์กรสันติภาพนานาชาติ
แอล.แอล. ซาเมนฮอฟ ถึงแก่กรรมในกรุงวอร์ซอว์ รวมอายุได้ 58 ปี และได้รับการฝังไว้ที่สุสานยิวแห่งหนึ่งในเมืองนั้น ซาเมนฮอฟได้รับการนับถือให้เป็นพระเจ้าของ"ศาสนาอูโมโต" (Oomoto)
เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน
เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน หรือชื่อเต็ม จอห์น โรนัลด์ รูเอล โทลคีน (John Ronald Reuel Tolkien นามปากกาว่า J. R. R. Tolkien ) (3 มกราคม พ.ศ. 2435 – 2 กันยายน พ.ศ. 2516) เป็นกวี นักประพันธ์ นักภาษาศาสตร์ และศาสตราจารย์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงในฐานะผู้ประพันธ์นิยายแฟนตาซีระดับคลาสสิค เรื่องเดอะฮอบบิท และเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์
โทลคีนเข้าศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนคิงเอดเวิดส์ เมืองเบอร์มิงแฮม และจบการศึกษาระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เข้าทำงานครั้งแรกในตำแหน่งอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยลีดส์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 - 2468 ได้เป็นศาสตราจารย์สาขาแองโกลแซกซอน ตำแหน่ง Rawlinson and Bosworth Professor ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ตั้งแต่ พ.ศ. 2468 - 2488 และได้เป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ตำแหน่ง Merton Professor ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 - 2502 โทลคีนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งราชอาณาจักรบริเตน ระดับ Commander จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2515[1]
โทลคีนนับเป็นชาวคาทอลิกที่เคร่งครัด เป็นสมาชิกของกลุ่มที่ชุมนุมเพื่อถกเถียงด้านวรรณกรรม ชื่อ อิงคลิงส์ (Inklings) และได้รู้จักสนิทสนมกับ ซี. เอส. ลิวอิส นักเขียนนวนิยายและวรรณกรรมเยาวชน เรื่องตำนานแห่งนาร์เนีย ที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งของอังกฤษ
หลังจากโทลคีนเสียชีวิต ลูกชายของเขา คริสโตเฟอร์ โทลคีน ได้นำเรื่องที่บิดาของตนแต่งค้างไว้หลายเรื่องมาเรียบเรียงและตีพิมพ์ รวมถึงเรื่อง ซิลมาริลลิออน งานประพันธ์ชิ้นนี้ประกอบกับเรื่อง เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ รวมกันได้สร้างให้เกิดโลกจินตนาการซึ่งกอปรด้วยเรื่องเล่า ลำนำ บทกวี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาประดิษฐ์ ในโลกจินตนาการที่ชื่อว่า อาร์ดา และแผ่นดินมิดเดิลเอิร์ธ ซึ่งเป็นฐานของงานประพันธ์ปกรณัมทั้งมวลของโทลคีน
แม้ว่านิยายแฟนตาซีจะมีกำเนิดมาก่อนหน้านั้นแล้ว ทว่าความสำเร็จอย่างสูงของ เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งกระแสความนิยมของนิยายแนวนี้ขึ้นมาใหม่ และทำให้โทลคีนได้รับขนานนามว่า บิดาแห่งวรรณกรรมแฟนตาซีระดับสูงยุคใหม่ (father of the modern high fantasy genre)[2] ผลงานของโทลคีนสร้างแรงบันดาลใจให้แก่งานแฟนตาซียุคหลังรวมถึงศิลปะแขนงอื่นที่เกี่ยวข้องมากมาย ในปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ.2008) นิตยสารไทมส์จัดอันดับโทลคีนอยู่ในลำดับที่ 6 ใน 50 อันดับแรกของ "นักประพันธ์ชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ยุคหลังปี 1945"[3]
ขอขอบคุณ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี นักภาษาศาสตร์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากๆค่ะกำลังตามหาแนวคิดของนักภาษาศาสตร์เกืี่ยวกับการสื่อสารพอดี
แสดงความคิดเห็น