20 ก.ย. 2553

มิติใหม่ของการเรียนภาษาอังกฤษบทบาทคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)


โดย วรชาติ อมรภิญโญเกียรติ
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่


1. ทำไมต้อง CAI
ในปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตไม่ว่าจะเป็นด้านการช่วยจัดเก็บข้อมูลเอกสาร ด้านการคำนวณหรือแม้แต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญคือการนำมาใช้ในการออกแบบบทเรียนสำหรับการเรียนการสอนนักศึกษาในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาภาษาอังกฤษที่มีความสำคัญมากต่อทรัพยากรมนุษย์ในยุคโลกไร้พรมแดน (GLOBALIZATION) การเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านทางบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นการเปลี่ยนรูปลักษณ์ของการเรียนการสอนจากการนั่งเรียนภาษาในห้องเรียนโดยมีอาจารย์เป็นผู้สอนและนักศึกษาเป็นผู้เรียน การเรียนระบบนี้เป็นการเรียนที่นักศึกษารุ่นเก่าคุ้นเคยซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาอาทิ จำนวนนักศึกษาในแต่ละชั้นมีมากเกินไปทำให้ผู้สอนไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง อาจารย์สอนเร็วหรือสอนข้ามบางเนื้อหาที่มีความสำคัญ หรือปัญหาที่พบจากพฤติกรรมของนักศึกษาไทยคือเมื่อเกิดคำถามหรือข้อสงสัยในรายวิชานักศึกษากลับไม่กล้าถามอาจารย์ผู้สอน แต่การเรียนผ่านทางบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้และทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ภาษาได้สะดวกยิ่งขึ้น ในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงประโยชน์ของการเรียนภาษาอังกฤษผ่านทางบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนพอสังเขปคือ

2. CAI ช่วยการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ

2.1 WELL-DESIGNED FOR ENGLISH FOUR SKILLS LEARNING: บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนออกแบบในการนำเสนอการเรียนภาษาอังกฤษโดยเน้นทักษะทั้งสี่ด้านพร้อมทั้งมีภาพและเสียงประกอบ การเรียนโดยวิธีนี้ช่วยให้ ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะด้านการฟังและการพูดผ่านทางการฟังเสียงและการออกเสียงตาม พัฒนาทักษะด้านการอ่านและการเขียน นอกจากนี้บทเรียนยังนำเสนอภาพประกอบเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจความหมายของคำศัพท์หรือเนื้อเรื่องได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

2.2 INTERACTION: บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนถูกออกแบบเพื่อให้ผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียนผ่านทางการโต้ตอบระหว่างบทเรียนกับผู้เรียน ในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เมื่อผู้เรียนเรียนจบหนึ่งเนื้อหาผู้เรียนต้องทำแบบฝึกหัดเพื่อประเมินความเข้าใจ และบทเรียนจะให้ผลป้อนกลับเพื่อเฉลยคำตอบทันทีผ่านทางเสียงและภาพทำให้ผู้เรียนตระหนักและรับรู้ผลเรียนจากจำนวนแบบฝึกหัดที่ทำไปและเมื่อเรียนจบทั้งหลักสูตรผู้เรียนสามารถทำข้อสอบเพื่อประมิน ความสามารถของตัวผู้เรียนได้เองในทำนองเดียวกันกับเมื่อทำแบบฝึกหัดแล้วทราบผลการเรียนรู้ได้ทัน

2.3 SELF-DIRECTED LEARNING: บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนออกแบบมาเพื่อผู้เรียนสามารถเรียนได้ด้วย ตนเอง ผู้เรียนจึงไม่ต้องกังวลกับเวลาในการเรียน ไม่ต้องคอยอาจารย์ออกคำสั่งหรือรอเพื่อนรอบข้าง ผู้เรียนยังสามารถกำหนดเวลาเริ่มเรียนและเลิกเรียนได้เอง นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถ CLICK เข้าไปดูคำตอบหรือคำอธิบายจากบทเรียนได้โดยตรงและอาจทำกิจกรรมอื่นไปได้พร้อมกันในขณะที่เรียน เช่นการฟังเพลงหรือการรับประทานอาหารว่าง

2.4 HIGH MOTIVATION: บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนรูปลักษณ์การเรียนภาษาอังกฤษจากวิชาที่ดูน่าเบื่อหน่ายให้หมดไป โดยจะนำเสนอบทเรียนและแบบฝึกหัดที่หลากหลายไม่ซ้ำซ้อน เมื่อผู้เรียนทำแบบ ฝึกหัดถูก จะมีเสียงปรบมือพร้อมคำว่า CORRECT หรือ VERY GOOD ปรากฏบนหน้าจอ แต่เมื่อทำแบบฝึกหัดผิดจะมีคำว่า TRY AGAIN ปรากฎบนหน้าจอ การเรียนแบบนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียนผ่านทางสิ่งแปลกใหม่บนจอภาพ

2.5 MORE HELP FOR SLOW LEARNERS: บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถช่วยแบ่งเบาภาระการสอนของอาจารย์ บทเรียนถูกออกแบบมาเพื่อช่วยอาจารย์ในการสาธิตเรื่องยากให้เข้าใจง่ายผ่านทาง จอภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ทำให้ช่วยลดเวลาในการสอนและการเตรียมการสอนของอาจารย์ ผลการวิจัยส่วนใหญ่พบว่าบทเรียนที่มีลักษณะเป็นโปรแกรมออกแบบมาให้เหมาะกับผู้เรียนสามารถสอนเนื้อหาได้มากกว่าการสอนด้วยวิธีอื่น โดยใช้เวลาน้อยกว่า ทำให้ผู้สอนสามารถเพิ่มเติมหรือปรับปรุงเนื้อหาและแบบฝึกหัดตามความเหมาะสมและความต้องการของผู้เรียน นอกจากนี้ยังช่วยลดบทบาทของผู้สอนจากการเป็นผู้ป้อนความรู้ (FEEDER) มาเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการเรียน (FACILITATOR) แทน

ขอขอบคุณ www.hu.ac.th/academic/article/Eng/worachat.htm

1 ความคิดเห็น:

Gaachatchai กล่าวว่า...

ขอบคุณครับที่ให้ความรู้