15 ก.ย. 2553

เคล็ด (ไม่) ลับ....การพูดภาษาอังกฤษด้วยวิธีธรรมชาติ


ถ้าเราเบื่อกับวิธีการเรียนภาษาแบบเดิมๆ แล้วยังพูดไม่ได้ วันนี้มีวิธีการเรียนอีกแบบมานำเสนอค่ะ วิธีนี้เป็นวิธีการเรียนภาษาที่เด็กทุกคนใช้ หรือแม้แต่ตัวเราเองก็ใช้วิธีนี้ในการเรียนรู้ภาษาเมื่อตอนเรายังเป็นเด็ก แต่เราอาจจะจำไม่ได้ หรือนึกไม่ออกว่าเรามีวิธีอย่างไรในการเรียนรู้และพัฒนาภาษาพูดของเรา เพราะเราคิดว่ามันเป็นไปโดยอัตโนมัติซึ่งเกิดจากสิ่งแวดล้อม วิธีนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเรียนภาษาแบบธรรมชาติค่ะ

เมื่อแรกเกิด เด็กยังไม่มีความสามารถในการที่จะสื่อสาร หรือเข้าใจในทุกสิ่งที่คนอื่นๆ เขาพูดกันได้ กว่าจะฟังทุกอย่างรู้เรื่องและเข้าใจว่าเขาพูดถึงอะไร หรืออันนี้หมายความว่าอะไร ก็ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ

ดังนั้นทักษะแรกทางภาษาที่เด็กได้ก็คือ ทักษะการฟังค่ะ เมื่อได้ทักษะการฟังแล้ว เด็กก็จะพยายามที่จะพูด โดยการเลียนเสียงที่ได้ยิน และเริ่มหัดพูดตาม ในช่วงแรกๆ ก็ยังพูดไม่ได้เป็นประโยค พูดถูกบ้าง ผิดบ้าง เด็กจะเริ่มพูดจากคำสั้นๆ ก่อน และก็ค่อยผสมคำไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง สามารถพูดได้เป็นประโยค จากนั้น เรามาเรียนหลักการใช้ภาษาอย่างถูกต้อง เมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน ซึ่งช่วยให้อ่านหนังสือออก และเขียนหนังสือได้ตามลำดับ

ถ้าหากใครเรียนภาษาที่สองมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และประสบปัญหาว่า เรียนมาหลายปีแล้วยังใช้ภาษาได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือพูดไม่ได้ ลองมานำวิธีนี้ไปปรับใช้ในการเรียนภาษาดูนะคะ

ขั้นแรก เริ่มจากการฟังค่ะ ให้ฝึกฟังทุกวันอย่างน้อยที่สุด วันละ 1 – 3 ชั่วโมง เพื่อให้เราเคยชินกับสำเนียงของภาษา ในตอนแรกไม่ต้องกังวลค่ะ ว่าเราฟังไม่ออก เราอาจจะฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างก็ไม่เป็นไร (เพราะลักษณะของเด็กในการเรียนภาษานั้น เด็กจะไม่ใช้ความคิดหาเหตุผล เด็กจะใช้วิธีเลียนแบบอย่างเดียวค่ะ) เปิดวิทยุหรือโทรทัศน์ให้เสียงดังพอ เพื่อที่เราจะได้ยินวิธีการพูดของเขาอย่างชัดเจน หรือใครจะใส่หูฟังก็ได้นะคะ ยิ่งดีค่ะ เพราะจะทำให้เราได้ยินการออกเสียงของเขาในแต่ละคำได้ชัดเจนดี

ขณะที่ฟังไปนั้น อย่าฟังจนเพลิน ให้สังเกตุวิธีการพูดของเขาด้วยค่ะ ว่าเขาออกเสียงอย่างไร ถ้าดูหนัง ก็ให้สังเกตุวิธีการขยับปากไปด้วย ว่าเขาขยับปากอย่างไร แล้วฝึกขยับปากตาม พึมพัมตามไปก่อนก็ได้นะคะถ้ายังพูดตามไม่ทัน เพราะแต่ละภาษามีทำนองภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกันค่ะ การที่เราพึมพัมตามเขาไป จะทำให้เรารู้จังหวะการพูดของเขาได้ค่ะ การขยับปากตามเป็นการฝึกกล้ามเนื้อที่ริมฝีปากด้วยค่ะ (เป็นการเตรียมพร้อมสู่ทักษะการพูดในขั้นต่อไป) เนื่องจากภาษาแต่ละภาษามีวิธีการออกเสียง และการใช้ตัวอักษรที่แตกต่างกัน ถ้าเราไม่ฝึกตรงนี้ จะทำให้เราพูดภาษาอังกฤษ ด้วยสำเนียงไทยค่ะ เพราะภาษาอังกฤษมีการใช้กล้ามเนื้อริมฝีปากมากกว่าภาษาไทย (สังเกตุว่าในการพูดภาษาไทย ปากของเราจะขยับน้อยกว่าในการออกเสียงคำแต่ละคำในภาษาอังกฤษ) ในภาษาอังกฤษเขาจะมี voice กับ voiceless อย่างเช่น ตัว V (voice) การที่เราจะออกเสียงได้ถูกต้องนั้น เราต้องสังเกตุวิธีการวางตำแหน่งปากและฟันก่อนออกเสียงด้วยนะคะ เพราะในภาษาไทยจะไม่มีการออกเสียงแบบนี้ ถ้าเราวางตำแหน่งผิด เราก็จะออกเสียงได้ไม่เหมือนเขาค่ะ และนั่นก็คือสาเหตุว่า ทำใมพูดไป แล้วเขาไม่เข้าใจเรานั่นเอง จุดเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียวค่ะ

ในขณะที่ฟังให้สังเกตุจังหวะในการพูด (rhythm), การขึ้นเสียงสูง เสียงต่ำ (intonation), การเน้นคำ (stress) ว่าเขาเน้นในพยางค์ไหน และพยางค์ไหนในคำนั้นที่แทบจะไม่ได้ยินว่าเขาออกเสียง (weak form) หรือถ้าเป็นประโยคยาวๆ ให้สังเกตุว่าคำไหนบ้างในประโยคที่ออกเสียงเน้น, การลากเสียงของคำแต่ละคำที่อยู่ใกล้กัน (connected speech), สังเกตุการออกเสียง s, ed, t , z ที่ท้ายคำว่าเขาออกเสียงอย่างไร เป็นต้น พูดง่ายๆ ก็คือ เลียนแบบทุกอย่างที่ได้ยินมาเลยล่ะค่ะ ถ้าใครมี dictionary แบบอังกฤษ อังกฤษ ก็ยิ่งดีใหญ่ค่ะ ถ้าไม่แน่ใจว่าคำไหนออกเสียงอย่างไร ให้เปิดเช็ควิธีการออกเสียงได้จาก dictionary ประกอบเลยค่ะ เพราะเขาจะบอกวิธีการออกเสียงและพยางค์ไหนที่ต้องเน้นเสียงหนัก

ขั้นที่สอง เมื่อฝึกฟังไปได้สักระยะแล้ว ขั้นต่อไปให้ฝึกทักษะการพูดจากข่าว, เพลง หรือหนัง ที่มี script เขียนประกอบเอาไว้

ครั้งแรกในขณะที่ฟังให้อ่าน script ในใจไปพร้อมๆ กับบทหนังนั้นๆ

ครั้งที่สองขณะอ่าน script ให้ขยับปากตาม

ครั้งที่สามให้พูดออกเสียงตาม script ไปพร้อมๆ กับหนัง พยายามพูดเลียนเสียงให้เหมือนที่สุด ทั้งจังหวะการพูด การขึ้นเสียงสูงเสียงต่ำ

การฝึกพูดกับ script นั้น ไม่จำเป็นจะต้องฝึกจากหนังทั้งเรื่อง เลือกเอามาแค่ตอนที่เราชอบสัก 1 ตอนก็ได้ค่ะ ฝึกวันละ 1 ตอน ทำอย่างนี้ซ้ำๆ จนกว่าเราจะเข้าใจวิธีการพูด และการออกเสียง วิธีนี้ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ อย่างถูกวิธี จะช่วยในการเปลี่ยนสำเนียงภาษาได้ด้วยค่ะ การอ่านออกเสียงนั้น ควรจะฝึกอ่านออกเสียงดังๆ ด้วยค่ะ ฝึกทุกวัน อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที การอ่านออกเสียงดัง นอกจากเป็นการฝึกกล้ามเนื้อปากแล้ว ทำให้เราได้ยินเสียงของตัวเอง และเปรียบเทียบกับเสียงของเจ้าของภาษาที่เราได้ยินมา ว่าเราออกเสียงเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับต้นแบบ วิธีนี้จะช่วยให้เราเคยชินกับการพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น และออกเสียงได้ดีขึ้นด้วยค่ะ

การเรียนด้วยวิธีนี้จะทำให้สมองของเราเกิดการซึมซับเข้าไปโดยอัตโนมัติ เมื่อเราฝึกฟัง และฝึกพูดตามมาได้ระยะหนึ่ง เราจะสังเกตุเห็นว่า เราจะซึมซับหลักการใช้ภาษามาด้วย หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ ไวยากรณ์นั่นเองค่ะ เราจะรู้วิธีการใช้ภาษา การใช้ tenses ด้วยวิธีธรรมชาติ (เหมือนกับที่บางคนพูดว่า รู้ว่าตรงนี้ต้องใช้คำนี้ ตรงนี้ใช้อย่างนี้ผิด แต่อธิบายไม่ได้ว่าเพราะอะไร)

สำหรับสื่อที่แนะนำใช้ในการฝึก ตัวผู้เขียนเองไม่ค่อยแนะนำภาพยนตร์ค่ะ แต่จะแนะนำพวกรายการ sitcom ซึ่งน่าจะเห็นผลได้ชัดเจนกว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษมานานเป็นเวลาหลายปี ก็เกิดอยากจะทบทวน เลยไปหยิบ sitcom เรื่องหนึ่งมาดู พอดีสนุกด้วย ก็ดูเพลินเลยทีเดียว พอดูไปเกือบจบ หนึ่งซีซั่น จะรู้สึกได้เลยว่า จะคิดเป็นภาษาอังกฤษ และพูดกับตัวเอง หรือบ่นออกมาเป็นภาษาอังกฤษ มีข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราชอบสไตล์การพูดของใครเป็นพิเศษ ก็ให้เลียนแบบโดยเน้นไปที่คนๆ นั้นเลยค่ะ

ขั้นที่สาม พอเราฝึกมาได้ถึงขั้นนี้แล้ว คราวนี้เราก็ศึกษาหลักไวยากรณ์เพิ่มเติมจากหนังสือ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจหลักไวยากรณ์มากขึ้นและใช้ได้ถูกต้องค่ะ วิธีนี้จะทำให้เราไม่ต้องปวดหัวกับการจำไวยากรณ์อีกต่อไป แต่จะทำให้เราเข้าใจวิธีการใช้ไวยากรณ์ และข้อมูลส่วนนี้สมองจะนำไปเก็บไว้ในความจำระยะยาวค่ะ เพราะการเรียนแบบท่องจำ และหักโหมนั้น สมองของเราจะนำข้อมูลต่างๆ ไปเก็บไว้ในความจำระยะสั้น เพื่อใช้ในการสอบ พอสอบเสร็จ เรียนจบ ก็ลืมหมดค่ะ

ขั้นที่สี่ เมื่อเราฝึกพูดและปรับสำเนียงภาษาอังกฤษได้แล้ว ต่อมาอยากจะอยากพูดเก่ง คือโต้ตอบได้โดยทันควัน ไม่ต้องคิดจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย แล้วกลับไปคิดคำตอบเป็นภาษาอังกฤษอีก อย่าเรียนโดยการฟังแล้วพูดตาม เพราะการฟังแล้วพูดตาม ไม่ได้ทำให้เราพัฒนาทักษะในการพูดโต้ตอบ ให้เรียนด้วยวิธี ฟังแล้วตอบคำถาม วิธีนี้จะทำให้เราคิดได้เร็วขึ้น และพูดภาษาอังกฤษได้คล่องขึ้นด้วยค่ะ

การฝึกตอบคำถามนั้น ในช่วงแรกๆ ที่เรายังพูดไม่คล่อง ไม่จำเป็นต้องรีบตอบเร็วๆ เพราะการรีบพูด อาจจะทำให้เราพูดไม่ชัด ออกเสียงผิด หรือลิ้นพันกันได้ พอเราฝึกไปเรื่อยๆ และพูดได้คล่องขึ้น อีกหน่อยเราก็จะพูดได้เร็วเอง แถมออกเสียงไม่ผิดพลาดด้วยค่ะ

อยากพูดให้ได้เหมือนเจ้าของภาษา อยากใช้ภาษาได้เหมือนเจ้าของภาษา สื่อที่เรานำมาใช้ประกอบการฝึกฝนของเราก็มีส่วนสำคัญค่ะ ให้เลือกแต่ สื่อที่เขาใช้จริงในชีวิตประจำวันเท่านั้น เช่น ฟังวิทยุ ฟังรายการข่าว ดูหนัง อ่านนิตยสารภาษาอังกฤษ (ช่วงนี้ใครที่มีสื่อประเภท หัดพูด ภาษาอังกฤษที่เป็นหนังสือประกอบเทป หรือซีดี ให้เก็บไปก่อนเลยนะคะ เพราะสื่อพวกนี้จะจำลองสถานการณ์มา และอาจจะไม่เหมือนจริงเท่าไหร่ และวิธีการพูดจากในเทป หรือซีดี ก็จะไม่เป็นธรรมชาติ เหมือนอย่างที่ของจริงเขาพูดกัน)

เราอยากพูดได้แบบเจ้าของภาษา เราต้องฟังในสิ่งที่เขาฟัง เราต้องอ่านในสิ่งที่เขาอ่านค่ะ ใครอยากได้สำเนียงอังกฤษ หรืออเมริกัน ก็เลือกกันเอาตามความชอบได้เลยค่ะ

ฝึกไปเรื่อยๆ นะคะ จะเห็นพัฒนาการของตัวเองขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนระยะเวลาว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของผู้เรียนแต่ละคน และอยู่ที่ความตั้งใจ และระยะเวลาในการฝึกฝนในแต่ละวันค่ะ ยิ่งฝึกมาก ก็เป็นเร็ว ฝึกน้อยก็จะเป็นช้าหน่อย

และสิ่งที่ขาดไม่ได้และสำคัญที่สุด เราจะต้องมีเป้าหมายในการเรียน มีแรงจูงใจ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนและความมั่นใจในตัวเองค่ะ ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว เรียนไปไม่นาน ก็เบื่อและเลิกฝึกฝนไปในที่สุด
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นค่ะ ขอให้ทุกคนโชคดีและสนุกกับการเรียนภาษานะคะ
บทความนี้รวบรวมและเรียบเรียงมาจากประสบการณ์ส่วนตัวส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลด้านล่างดังต่อไปนี้ค่ะ

A child’s first steps in Language Learning by J. Doug McGlothlin.
Effortless English by A.J
Intonation by Marta J. (2006)
Keep Them Talking! A project for improving students’ L2 pronunciation by Helen Kendrick (1997)
Listening for Young Learners by Wendy Arnold (2005)
Rhythm by Steve Darn (2007)
Speaking by Paul Kaye (2008)
Stephen Krashen’s Theory of Second Language Acquisition by Stephen Krashen
Teaching Speaking Skills 1 by Rolf Donald
The older language learner – Mary Schleppegrell

ขอขอบคุณ www. kris-languageacquisition.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น: