
ในโลกไร้พรมแดนที่การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อจากซีกโลกหนึ่งมายังอีกซีกโลกหนึ่งเพียงชั่วปลายนิ้วสัมผัส การส่งผ่านวัฒนธรรมจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศนั้นมิใช่เรื่องที่เลื่อนลอยและฉาบฉวย หากแต่เป็นการทำให้วัฒนธรรมของแต่ละประเทศทั่วโลกเชื่อมโยงหากันอย่างไร้ขีดจำกัด ขอบเขตในโลกวันนี้จึงมิได้มีพรมแดนขวางกั้น แต่สามารถเชื่อมต่อร้อยเรียงทุกเรื่องเข้าด้วยกัน
บรรยากาศเช่น การเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งเคยเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญและอาจจะจำกัดอยู่ในกลุ่มคนเพียงกลุ่มเล็กๆ ในวันนี้ก็กำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน ทุกวันนี้การที่ชาวตุรกี ฝรั่งเศส และคนไทย จะนั่งเรียนอยู่ในห้องเรียนเดียวกันในสหรัฐอเมริกา หรือคนอเมริกันจะมานั่งเรียนร่วมห้องกับคนไทยในชั้นเรียนของไทย จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา
สู่ยุคเรียนข้ามวัฒนธรรม
"การเรียนต่อของนักศึกษาจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศหนึ่งนั้นมีอัตราการขยายตัวที่สูงมาก ไม่เฉพาะคนไทยไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่หมายถึงการไปเรียนในต่างประเทศของนักศึกษาจากหลายประเทศ เป็นเพราะสถาบันการศึกษาในโลกวันนี้เปิดกว้างมากขึ้น จะในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น แทบจะทุกสถาบันมีการเปิดแผนกเฉพาะเพื่อรองรับนักศึกษาต่างชาติ และเหตุนี้เองที่ทำให้อัตราการเรียนต่อต่างประเทศของนักศึกษาทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น" "พิชัย ทยายุทธ" ผู้อำนวยการศูนย์แนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ แฮมมิลตัน และกรรมการกลางสมาคมไทยแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศบอกเล่าให้ฟังถึงเหตุที่มาถึงสิ่งที่ทำให้การศึกษาต่อต่างประเทศมีอัตราการเติบโตมากขึ้นในปัจจุบัน
มากกว่านั้นทุกวันนี้อย่างในสหรัฐอเมริกา สถาบันการศึกษาถึงกับมีการศึกษาสภาพเศรษฐกิจ สังคมของตลาดในต่างประเทศเพื่อที่จะเปิดหลักสูตรขึ้นรองรับ "พิชัย" บอกว่า "ตอนนี้ถ้าเป็นคนไทยเข้าไปติดต่อที่แผนกนักศึกษาต่างชาติ นอกจากเราจะรู้สึกอบอุ่นที่มีคนดูแลเฉพาะแล้ว เจ้าหน้าที่เขาอาจจะรู้ถึงขั้นว่าคนไทยชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และเป็นคนลักษณะไหนเก่งอะไร บางสถาบันถึงกับมองว่าประเทศไทยกำลังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แต่มีการเติบโตของการท่องเที่ยว มีการลงทุนโรงแรมมากขึ้น เขาก็คิดว่าประเทศไทยน่าจะต้องการบุคลากรด้านนี้เพิ่ม ก็ถึงกับมีการเปิดหลักสูตรการโรงแรม หลักสูตรอีเวนต์ แมเนจเมนต์ไว้รองรับ ผมว่าตรงนี้เป็นภาพสะท้อนสำคัญว่าทุกวันนี้สถาบันการศึกษาในต่างประเทศให้ความสำคัญกับนักศึกษาต่างชาติมากขนาดไหน"
คนไทยยอมจ่ายหลักหมื่นล้าน
สำหรับไทยซึ่งถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีนักศึกษาเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศจำนวนไม่น้อย โดยคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และดูเหมือนว่าแนวโน้มจะไม่ลดลงเลยทั้งๆ ที่ภาวะเศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้ดีมากนัก เนื่องจากคนส่วนใหญ่เชื่อว่าการจบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยดีๆ จะทำให้เป็นบันไดสำคัญของการได้มีโอกาสก้าวสู่เส้นทางในอาชีพที่ดีทั้งตำแหน่งหน้าที่และเงินเดือน
"พิชัย" บอกว่า "ถึงแม้วันนี้จะมีคนจบจากต่างประเทศเยอะ แต่ถ้าถามในยุคนี้คนที่ไปเรียนต่างประเทศก็ยังมีข้อได้เปรียบมากกว่า เพราะไม่ใช่แค่ภาษาที่ได้ แต่สิ่งที่ได้คือประสบการณ์นอกห้องเรียน ระบบการศึกษาที่ดี ซึ่งในยุคที่ไทยมีองค์กรธุรกิจข้ามชาติมากแบบนี้ โอกาสของการไปเรียนต่อก็ยังถือเป็นอนาคตที่สำคัญ อย่างที่เราส่งเด็กไปเรียนการโรงแรมในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเรียนจบเขามีโอกาสฝึกงานในโรงแรมดีๆ ทั้ง 100% ตอนนี้ก็กลับมาทำงานโรงแรมระดับ 5 ดาวทั้งนั้น"
เขาเปรียบเทียบให้เห็นภาพและเหตุผลว่า เพราะเหตุใดคนไทยยังคงสนใจไปเรียนต่อต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
"อุดม ดิษฐสำเริง" นายกสมาคมไทยแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ บอกว่า "แม้คนไปเรียนต่อจะมีหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ตั้งใจไปเรียน กลุ่มที่สอบเข้าที่ไหนไม่ได้ กลุ่มที่ไม่รู้จะเรียนอะไรในไทย ไปเรียนเพื่อชุบตัว แต่กลุ่มหนึ่งที่เห็นชัดเจนว่าเขาประสบความสำเร็จมากคือเด็กที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยก่อนเดินทางไปศึกษาต่อ เขาก็จะดูว่าบริษัทใหญ่อย่างเครือปูนซิเมนต์ไทย ปตท.นั้นมีความต้องการบุคลากรด้านไหน มีคุณสมบัติแบบไหน เมื่อเรียนจบเขาก็กลับมา และผมก็เห็นว่า เด็กกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาวางไว้ และได้โอกาสในการทำงานที่ดี"
เศรษฐกิจ-การเมืองไม่ส่งผลกระทบ
และหากให้ประเมินสถานการณ์การเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศในปีนี้ เขามองว่ายังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง !!
"แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจและการเมืองจะไม่แน่นอน แต่เราก็เห็นว่าอัตราการเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศของเด็กไทยนั้นยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นราว 7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ยิ่งสหรัฐอเมริกาซึ่งขณะนี้กำลังได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง และเชื่อว่าในปีนี้อัตราการเติบโตของนักศึกษาที่เดินทางไปเรียนในสหรัฐจะสูงขึ้นมากกว่าประเทศอื่นที่ค่าเงินยังแพงอย่างออสเตรเลีย ซึ่งเชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ราว 10% และบางทีในปีหน้าจำนวนนักศึกษาที่เดินทางไปสหรัฐอาจจะแซงหน้าออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีคนไทยเดินทางไปเรียนต่อมากที่สุดก็เป็นได้"
ไม่เพียงความคาดหวังในการก้าวสู่ความสำเร็จจากการทำงานในอนาคต สิ่งที่กำลังกลายมามีอิทธิพลสำคัญสำหรับเด็กไทยในการตัดสินใจเรียนต่อนั้นมาจากความชื่นชอบในวัฒนธรรมรวมถึงศิลปิน นักแสดง การขยายอิทธิพลวัฒนธรรมผ่านเพลง ละคร ภาพยนตร์ ทั้งวัฒนธรรมเค-พ็อปจากเกาหลี ที่บูมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงวัฒนธรรมเจ-พ็อป ที่เข้ามาครองใจวัยรุ่นไทยมาเป็นเวลายาวนานนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ในทางกลับกันการรุกตลาดของค่ายเพลงไทยที่ปลุกปั้นดารา นักร้องไทยให้มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกอล์ฟ-ไมค์ ไอซ์ ศรัณญู ซึ่งเป็นศิลปินไทยที่กำลังได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนสร้างกระแสเอเชีย เทรนด์ที่ทำให้เด็กไทยจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไปเรียนต่อในญี่ปุ่น และเกาหลี
เอเชีย เทรนด์อิทธิพลจากศิลปิน
"สมพล คงวัฒนากุล" นายกสมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น กล่าวในงานเปิดตัวงานแนะแนวการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 16 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2550 นี้ ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลว่า "การที่มีดารานักร้องไทยไปดังที่ญี่ปุ่นยิ่งทำให้กระแสความนิยมของญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนไทยหันมาสนใจในความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้นเป็นเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ข่าวสาร แฟชั่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ในอนาคตเด็กไทยน่าจะไปเรียนต่อในญี่ปุ่นมากขึ้น เพราะจุดเริ่มต้นจากความชอบการ์ตูน หรือชอบวัฒนธรรมจะทำให้เขาเริ่มหันมาสนใจเรียนภาษาญี่ปุ่น"
"ในอดีตคนไทยที่เดินทางไปเรียนญี่ปุ่นมีไม่มากนัก ถ้าเทียบกับปัจจุบันที่คนไทยจะสนใจเดินทางไปเรียนประเทศในแถบเอเชียมากขึ้น เมื่อก่อนส่วนใหญ่อาจจะเป็นนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาไปเรียน แต่ปัจจุบันจำนวนของผู้ที่ใช้เงินส่วนตัวไปเรียนมีเพิ่มมากกว่าเดิมถึงกว่า 50% แต่อาจจะยังติดขัดเรื่องค่าครองชีพที่สูงกว่าประเทศไทยมาก ทำให้สัดส่วนการไปเรียนต่อในญี่ปุ่นนั้นยังอยู่ในระดับกลาง แต่ก็ถือว่ามากขึ้นพอสมควร ซึ่งรวมถึงในอนาคต"
อินเดีย-มาเลย์มาแรง
นอกจากนี้ในปัจจุบันประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักศึกษาไทยยังหันกลับมาทางฝั่งเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะอินเดีย ที่ในช่วง 2-3 ปีมานี้มีนักศึกษาไทยเดินทางไปเรียนต่อในเมืองบังคาลอร์ ที่ถือเป็นซิลิคอนวัลเลย์ของเอเชีย โดยส่วนใหญ่จะไปเรียนด้านคอมพิวเตอร์ และมักจะได้รับการจองตัวจากบริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ประเทศที่น่าจับตาในอนาคตนั้นคือมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนประเทศให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคเช่นเดียวกับไทย
นายกสมาคมไทยแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ บอกว่า ในงานมหกรรมการศึกษาต่อต่างประเทศครั้งที่ 19 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2550 ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอนนั้น สถาบันการศึกษาจากมาเลเซียจะมาร่วมงานถึง 10 แห่ง ซึ่งถือเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของการรุกตลาดไทย และเป็นการสนับสนุนของรัฐบาล โดยมาเลเซียมีจุดแข็งในเรื่องความเป็นนานาชาติ ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอน ขณะเดียวกันหลักสูตรส่วนใหญ่ยังเป็นหลักสูตรปริญญาควบ หรือ twinning program ซึ่งมีพันธมิตรเป็นมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและอังกฤษ ซึ่งนักศึกษาเมื่อเรียนจบจะได้ปริญญาจากทั้ง 2 สถาบัน ขณะเดียวกันมาเลเซียเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายถูกมากกว่าประเทศซึ่งเป็นที่นิยมเกินกว่าครึ่ง และเชื่อว่าในอนาคตน่าจะได้รับความนิยมจากเด็กไทยจำนวนไม่น้อย
การเรียนต่อต่างประเทศในวันนี้จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ก็ในเมื่อในโลกยุคนี้การเคลื่อนย้ายแรงงานจากซีกโลกหนึ่งมายังอีกซีกโลกหนึ่งยังเป็นเรื่องแสนธรรมดา จนวันนี้นักธุรกิจหลายคนนั้นเลือกที่พักที่อยู่ใกล้สนามบินเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางได้ตลอดเวลา นับประสาอะไรกับการเดินทางไปเรียนในต่างประเทศ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
---------------
ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
http://www.matichon.co.th/prachachat...sectionid=0222
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น